ทำงานกับรถโฟร์คลิฟท์อย่างไรให้เกิดความปลอดภัย

ทำงานกับรถโฟร์คลิฟท์

ทำงานกับรถโฟร์คลิฟท์เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

ปัจจุบันสถานประกอบกิจการส่วนมากหรือเรียกได้ว่าแทบจะทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร หรือธุรกิจโกดังให้เช่า ย่อมมีการใช้รถโฟร์คลิฟต์ในการเคลื่อนย้ายสิ่งของ ซึ่งถือได้ว่ารถโฟร์คลิฟท์ เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบกิจการก็ว่าได้ ซึ่งการใช้โฟร์คลิฟท์เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกในเคลื่อนย้ายเป็นอย่างมาก เพราะหากเราต้องการเคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก แต่เราไม่มีโฟร์คลิฟท์ก็เป็นเรื่องยากและต้องเสียเวลาแบ่งของเป็นส่วนๆ เพื่อให้มีน้ำหนักน้อยลง และสามารถเคลื่อนย้ายได้ ด้วยอุปกรณ์อื่น เช่น แฮนด์ลิฟท์ เป็นต้น

รถยกคืออะไร

รถยกหมายความว่ารถที่ติดตั้งอุปกรณ์ใช้สำหรับการยกหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของเช่นฟอร์คลิฟต์ (forklift) หรือรถที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน

 

 

ใครบ้างที่สามารถขับรถโฟร์คลิฟท์ได้

การขับรถโฟร์คลิฟต์อย่างปลอดภัย ไม่ใช่ว่าใครขับเป็นก็สามารถขับได้ การขับรถโฟร์คลิฟท์ที่ปลอดภัยนั้น ผู้ทำหน้าที่ขับ ต้องผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้รถยกแต่ละประเภท ความปลอดภัยในการขับ การตรวจสอบและบำรุงรักษา ซึ่งในการอบรม ต้องเป็นวิทยากรที่ทีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับรถยกด้วย ซึ่งรถยกมีหลายประเภท เวลาอบรมก็ต้องเลือกให้ตรงกับประเภทของการใช้งาน เพราะรถแต่ละประเภทนั้น มีวิธีการตรวจสอบและบำรุงรักษาที่แตกต่างกัน เช่น รถโฟร์คลิฟท์ที่ใช้ LPG ต้องมีการตรวจสอบระบบ LPG ปีละหนึ่งครั้ง  รถโฟร์คลิฟท์ที่ใช้ไฟฟ้า หรือรถที่ใช้น้ำมัน ย่อมแตกต่างกัน จึงมีความจำเป็นต้องอบรมให้ตรงกับรถยกที่ใช้งาน

 

 

การทำงานกับโฟร์คลิฟต์อย่างปลอดภัยเพื่ออะไร

นอกจากผู้ขับขี่จะต้องผ่านการอบรมโฟล์คลิฟท์เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยแล้ว ยังต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัยอื่นร่วมด้วย โดยกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดไว้ โดยสรุปได้ดังนี้

  1. รถยกต้องมีโครงหลังคาที่มั่นคงแข็งแรง สามารถป้องกันอันตรายจากวัสดุตกหล่นได้ เว้นแต่รถยกออกแบบมาให้ยกสิ่งของที่มีความสูงไม่เกินศีรษะของผู้ขับขี่
  2. ต้องมีป้ายบอกพิกัดยกอย่างปลอดภัย และมีคู่มือการใช้งานไว้ที่รถยก พร้อมทั้งติดป้ายเตือนให้ระวัง ซึ่งพิกัดยก ก็คือตัวเลขที่เราเห็นติดอยู่ข้างตัวรถยก เช่น เลข 20 หมายถึงพิกัดยกสูงสุด คือ 2 ตัน เลข 25 หมายถึงพิกัดยกสูงสุด คือ 2.5 ตัน เป็นต้น
  3. ตรวจสอบรถยกให้มีสภาพใช้งานได้ดีและปลลอดภัยก่อนการใช้งานทุกครั้ง และต้องเก็บเอกสารตรวจสอบไว้ด้วย ซึ่งเอกสารการตรวจสอบ เราอาจให้ผู้ใช้งานเป็นคนแรกของวัน เป็นผู้ตรวจสอบก่อนการใช้งาน และหากพบว่ารถโฟร์คลิฟท์นั้นอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย ต้องรีบแจ้ง เพื่อให้ได้รับการแก้ไขโดยทันที โดยเฉพาะเรื่องระบบเบรค
  4. จัดให้มีสัญญาณเสียงหรือแสงไฟเตือนในขณะทำงาน
  5. จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยการมองเห็นตามสภาพในการทำงาน เช่น กระจกมองข้าง
  6. ให้ลูกจ้างที่ทำหน้าที่ขับรถยกชนิดนั่งขับสวมใส่เข็มขัดนิรภัยในขณะทำงานบนรถตลอดเวลา ถ้าผู้ขับขี่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยในขณะขับขี่ หากเกิดอุบัติเหตุทำให้รถพลิกคว่ำ ผู้ขับขี่อาจตกลงมาโดนรถโฟร์คลิฟท์ทับเสียชีวิตได้ และนี่คือเหตุผลว่า ทำไม่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย
  7. ต้องตีเส้นช่องทางเดินรถบริเวณภายในอาคารหรือกำหนดเส้นทางเดินรถยกในบริเวณอื่นที่มีการใช้รถยกเป็นประจำ  จึงทำให้หลายสถานประกอบกิจการทาสีเส้นทางเดินรถยกแยกจากทางเดินคนอย่างชัดเจน และอาจกำหนดให้ ทำ KY ก่อนการเข้าไปในเส้นทางเดินรถยก เช่น การหยุดชี้นิ้วเพื่อเช็ความปลอดภัย
  8. ต้องติดตั้งกระจกนูนหรือวัสดุอื่นที่คล้ายกันไว้บริเวณทางแยกหรือทางโค้งที่มองไม่เห็นเส้นทางข้างหน้า
  9. ต้องควบคุมไม่ให้บุคคลอื่นโดยสารหรือขึ้นไปบนรถยก
  10. อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลงานยกขนย้ายหรือติดตั้งให้สวมหมวกนิรภัยถุงมือผ้าและ รองเท้านิรภัย หรืออาจเพิ่มเสื้อสะท้อนแสง สำหรับผู้ทำหน้าที่ขับรถยกก็ได้ นอกเหนือจากที่กล่าวมา ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่กำหนดไว้ หากอยากทราบโดยละเอียด สามารถดูได้จาก

 

 

กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564

ซึ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่กฎกระทรวงได้กำหนดไว้ แต่ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่กำหนดขึ้น เพื่อความปลอดภัยในการทำงานกับรถยก เช่น หากผู้ขับขี่รถยก ไม่ได้มีเพียงคนเดียว ต้องจัดให้มีมาตรการการควบคุมกุญแจของรถยกด้วย เช่น มีบอร์ดควบคุมกุญแจรถ หากใครเอารถไปใช้งาน ต้องแขวนป้ายชื่อเอาไว้ เพื่อให้สามารถตรวจสอบผู้ใช้งานได้ และเมื่อใช้งานเสร็จแล้ว ให้นำกุญแจรถกลับมาแขวนที่บอร์ดเช่นเดิม 

มาตรการต่างๆที่กำหนดนั้น มีความสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่า คือจะทำอย่างไร ให้ผู้ทำหน้าที่ขับขี่รถยก ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผู้ควบคุมดูแลต้องเน้นย้ำและตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความตระหนัก หรืออาจมีความจำเป็นต้องใช้บทลงโทษมาเป็นตัวช่วยในการดำเนินการ 

สรุป

รถยกหรือที่เราเรียกกันว่ารถโฟร์คลิฟท์มีประโยชน์มากมายแต่ก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้หากมีการใช้งานอย่างไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกวิธีจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ผู้ทำหน้าที่ขับรถยกต้องผ่านการอบรมเกี่ยวกับการใช้รถยกแต่ละประเภทความปลอดภัยในการขับการตรวจสอบและบำรุงรักษาซึ่งหากเรามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในงานที่ทำบวกกับมีมาตรการด้านความปลอดภัยที่ดีย่อมส่งผลให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานด้วยเช่นกัน

Related Posts