Home ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้มีความสำคัญอย่างไร เราควรตรวจสอบระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ทุกกี่ปี

ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้มีความสำคัญอย่างไร เราควรตรวจสอบระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ทุกกี่ปี

by Travis King
53 views
การตรวจสอบระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้สำคัญอย่างไร

ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้มีความสำคัญอย่างไร และควรมีการตรวจสอบทุกๆกี่ปี

เพลิงไหม้ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งแต่ละครั้งที่มีเพลิงไหม้เกิดขึ้น ย่อมส่งผลให้เกิดความเสียหายตามมา จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเร็วในการระงับเหตุ ซึ่งหากเรามีระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่พร้อมใช้งาน ก็จะทำให้เราสามารถระงับเหตุได้ทันที ทำให้เพลิงไม่ลุกลามเป็นวงกว้าง

1. ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้คืออะไร

  • ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ หรือที่เราเรียกกันว่า Fire Alarm System เป็นระบบที่เราใช้แจ้งเตือนเมื่อมีเพลิงไหม้เกิดขึ้น โดยจะใช้อุปกรณ์ในการตรวจจับชนิดต่างๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ในการติดตั้ง ซึ่งเมื่ออุปกรณ์ตรวจจับได้ จะส่งสัญญาณไปยังตู้ควบคุม และระบบจะส่งสัญญาณเสียงหรือแสงออกมา เพื่อให้รู้ว่ามีเพลิงไหม้เกิดขึ้น

 

ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ คืออะไร

 

2. ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ประกอบด้วยอะไรบ้าง

  • ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้จะทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ต้องมีอุปกรณ์ประกอบ ซึ่งอุปกรณ์ประกอบของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ประกอบด้วย

2.1 ตู้ควบคุม หรือแผงควบคุม

  • เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่รับแจ้งเหตุจากอุปกรณ์ตรวจจับ แล้วส่งสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ออกมา เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้รับรู้และอพยพหนีไฟ หรือส่งสัญญาณให้ระบบดับเพลิงอัตโนมัติทำงาน

2.2 แหล่งจ่ายไฟ

แหล่งจ่ายไฟของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ มีอยู่ 2 ส่วน คือ 

  • แหล่งจ่ายไฟหลัก คือ ไฟฟ้าจากการไฟฟ้า
  • แหล่งจ่ายไฟสำรอง คือ แบตเตอรี่

เนื่องจากระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ต้องใช้ไฟฟ้าในการทำงาน เมื่อแหล่งจ่ายไฟหลักขัดข้อง แหล่งจ่ายไฟสำรองก็จะทำงานแทน 

2.3 อุปกรณ์เริ่มสัญญาณ

เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แจ้งให้ตู้ควบคุมรู้ว่ามีเหตุเกิดขึ้น ต่อจากนั้นระบบจะแจ้งเหตุอัตโนมัติ อุปกรณ์เริ่มสัญญาณแบ่งเป็น 2 ชนิด  คือ

  • ชนิดเริ่มสัญญาณด้วยมือ (Manual Station)  เป็นชนิดที่ทำงานจากการกดหรือดึงด้วยตัวบุคคล หากไม่มีใครไปกดหรือดึงสัญญาณ ก็จะไม่สามารถแจ้งเตือนได้
  • ชนิดเริ่มสัญญาณอัตโนมัติ (Automatic Detector) เป็นอุปกรณ์ตรวจสอบการเกิดเพลิงไหม้ หากพบว่ามีเพลิงไหม้เกิดขึ้น จะทำการส่งสัญญาณไปที่ตู้ควบคุมโดยอัตโนมัติ เช่น อุปกรณ์ตรวจจับควัน อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน เป็นต้น

2.4 อุปกรณ์ส่งสัญญาณ

อุปกรณ์ส่งสัญญาณ หรืออุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้และอุปกรณ์ตรวจจับได้ อุปกรณ์แจ้งเหตุจะทำหน้าที่ส่งสัญญาณเตือนออกมา เพื่อให้คนที่อยู่ในบริเวณที่มีเพลิงไหม้ทราบ ซึ่งอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  • อุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยเสียง เช่น กระดิ่ง ไซเรน ลำโพง เป็นต้น
  • อุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยแสง ซึ่งอุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยแสง มักจะใช้ในสถานที่ที่ห้ามใช้เสียง เช่น โรงพยาบาล เป็นต้น

 

ตู้ควบคุมหรือแผงควบคุม

 

2.5 อุปกรณ์ประกอบ

อุปกรณ์ประกอบ เป็นอุปกรณ์ที่ทำงานเชื่อมโยงกับระบบอื่นที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมป้องกันและดับเพลิง โดยจะถ่ายทอดสัญญาณระหว่างระบบเตือนอัคคีภัยกับระบบอื่น เช่น

  • ส่งสัญญาณกระตุ้นการทำงานของระบบบังคับลิฟต์ลงชั้นล่าง การปิดพัดลมในระบบปรับอากาศ เปิดพัดลมในระบบระบายอากาศ ควบคุมการเปิดประตูทางออก เปิดประตูหนีไฟ เปิดระบบดับเพลิง เป็นต้น
  • รับสัญญาณของระบบอื่นมากระตุ้นการทำงานของระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัย เช่น จากระบบพ่นน้ำปั๊มดับเพลิง ระบบดับเพลิงด้วยสารเคมีอัตโนมัติ เป็นต้น

จากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นส่วนประกอบของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งจะเป็นระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่ สมบูรณ์ได้ ต้องมีส่วนประกอบหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งต้องมีการตรวจสอบระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ทั้งระบบ เพื่อตรวจดูว่าระบบขอเรา ยังสามารถใช้งานได้ดีอยู่หรือไม่

3. การตรวจสอบระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้

การตรวจสอบระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เพื่อให้รู้ว่าระบบของเรามีความพร้อมสำหรับการใช้งานอยู่เสมอ  เพราะหากระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ไม่สามารถแจ้งเตือนได้ในกรณีเกิดเหตุขึ้น จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และหากเรามีการตรวจสอบความพร้อมของระบบอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เราทราบถึงความเสียหายของอุปกรณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที และสามารถแก้ไขได้ทันที เพราะหากไม่มีการตรวจสอบระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เราก็จะไม่สามารถรู้ได้ว่า ระบบของเราไม่พร้อมใช้งาน และเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น ระบบไม่ส่งสัญญาณเตือน ก็จะไม่สามารถระงับเหตุที่เกิดขึ้นได้ กว่าจะรู้ก็เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างและไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งการตรวจสอบระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ในที่นี้ ผู้เขียนจะแบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้

3.1 การตรวจสอบประจำเดือน

เป็นการตรวจสอบการทำงานของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้แบบง่ายสามารถตรวจสอบได้เองโดยเจ้าหน้าที่ของเจ้าของสถานที่เองเช่นตรวจสัญญาณแจ้งเหตุด้วยมือว่ายังสามารถทำงานได้หรือไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหากกดแล้วสัญญาณไม่ดังหรือไม่มีการแจ้งเตือนจะได้รีบแก้ไขเพื่อให้ระบบอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ

3.2 การตรวจสอบประจำปี

การตรวจสอบประจำปีของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้เป็นการตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ทั้งระบบว่ายังสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่มีอุปกรณ์อะไรชำรุดเสียหายหรือเสื่อมสภาพหรือไม่และหากพบว่าอุปกรณ์ไม่พร้อมใช้งานจะได้ทำการแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอเช่นอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนอุปกรณ์ตรวจจับควันเป็นต้นซึ่งการตรวจสอบต้องทำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งโดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน

 

ระบบปั๊มน้ำดับเพลิง

 

4. ความสำคัญของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้

ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เป็นระบบแจ้งเตือนเมื่อมีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้น ทำให้เราสามารถระงับเหตุ ได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จะเกิดเพลิงไหม้ใหญ่ จนไม่สามารถควบคุมได้ ยิ่งเราสามารถระงับเหตุได้เร็วเท่าไหร่ ความเสียหายย่อมน้อยเท่านั้น จึงมีความจำเป็นต้องตรวจสอบระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินให้น้อยที่สุด

สรุป

การตรวจสอบระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ต้องตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเพื่อให้ระบบมีความพร้อมใช้งานอยู่เสมอ และหากพบว่าอุปกรณ์ของระบบเสื่อมสภาพ ต้องรีบแก้ไขโดยทันที 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์รวมความรู้ด้านความปลอดภัยในการทำงาน ที่คุณสามารถอ่านได้ฟรีและมีการอัปเดตใหม่ ทุกๆวัน!

@2023 – All Right Reserved. Designed and Developed by  Staraokhospitality